วันจันทร์ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2553

ไอซีทีกับการเปลี่ยนแปลงวิถีการเรียนรู้

การพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศได้ก้าวหน้าขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ และระบบสื่อสารโทรคมนาคม ที่สามารถประมวลผลข้อมูลข่าวสารได้เร็ว และสื่อสารกันได้สะดวก เทคโนโลยีที่กล่าวถึงจึงรวมเรียกว่า ICT - Information Computer and Telecommunication จึงมีบทบาทที่สำคัญต่อการศึกษาอย่างมาก โดยเฉพาะการประยุกต์ในระบบการศึกษาสมัยใหม่ คณะที่ปรึกษาประธานาธิบดีอเมริกัน ได้ทำรายงานพิเศษเสนอต่อประธานาธิบดีในหัวข้อเรื่อง "การใช้ไอทีเพื่อเปลี่ยนการเรียนรู้" ซึ่งเป็นแนวคิดที่น่าสนใจ และก็มีหลายอย่างที่ตรงกับความคิดที่ทางมหาวิทยาลัย และทบวงมหาวิทยาลัยได้ดำเนินการแล้ว
นโยบายของทบวงมหาวิทยาลัยเน้นการขยายการศึกษาระดับอุดมศึกษาไปยังท้องถิ่นต่าง ๆ ให้มากขึ้น ดังจะเห็นได้จากการดำเนินการจัดตั้งวิทยาเขตสารสนเทศที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ โดยเน้นการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ โดยเฉพาะ ICT เข้ามามีส่วนร่วมในการกระจายการศึกษา
การใช้เทคโนโลยีเข้าช่วยเพื่อลดข้อจำกัดในด้านต่าง ๆ ของการจัดการศึกษา ดังนี้
ลดข้อจำกัดทางด้านระยะทาง สามารถขยายการเปิดวิทยาเขตไปยังท้องถิ่นและจังหวัดต่าง ๆ ได้ ทำให้นิสิตนักศึกษามีที่เรียนที่ใกล้บ้านมากขึ้น ลดปัญหาสภาพภูมิศาสตร์ และการเดินทาง ระยะทาง เพราะมีการใช้เครือข่ายยูนิเน็ต การสร้างระบบการเรียนการสอนสองทางแบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ มีห้องเรียนเครือข่าย ห้องเรียนเสมือนจริง
ลดข้อจำกัดในเรื่องเวลา ทำให้สามารถเปิดวิทยาเขตได้เร็ว มีการทำงานในระดับวิทยาเขตเป็นแบบเชื่อมโยงถึงกัน การศึกษาผ่านไอทีทำให้บริการแบบ 24x7 ได้ การเข้าถึงข่าวสารข้อมูลทำได้ตลอดเวลา
ลดข้อจำกัดในเรื่องบุคลากร มหาวิทยาลัยในรูปแบบเก่ามักเน้นในเรื่อง สถานที่ อาคาร สิ่งก่อสร้าง แต่แนวคิดการกระจายวิทยาเขตสารสนเทศเป็นมหาวิทยาลัยที่เชื่อมโยงใช้ทรัพยากรร่วมกัน โดยเฉพาะการขาดแคลนบุคลากร อาจารย์ผู้สอน ทำให้กระจายการทำงานไปได้มาก
ลดข้อจำกัดในเรื่องการลงทุน การลงทุนในด้านการศึกษาที่ใช้ไอทีเข้าช่วย จะทำให้ประหยัดต้นทุนโดยรวม และได้ประโยชน์คุ้มค่า เพราะสามารถกระจายรูปแบบการศึกษาไปยังท้องถิ่น ทำให้ขนาดของวิทยาเขตมีขนาดพอเหมาะ (right size) ลดค่าใช้จ่ายการดำเนินการโดยเฉพาะการเรียนการสอนโดยรวมจะมีต้นทุนที่ต่ำลง
การใช้ ICT มาช่วยในเรื่องการศึกษายังทำให้เกิดผลสำเร็จในด้านการศึกษาสูงขึ้น ทบวงมหาวิทยาลัยมีเป้าหมายที่สำคัญต่อระบบการศึกษาไทย คือ
ต้องการให้เข้าถึง และแสวงหาแหล่งความรู้ได้มาก โดยมี world knowledge ที่มากมาย มีการจัดหาระบบฐานข้อมูล และดิจิตอลไลบรารี มีการสร้างเครือข่ายห้องสมุดไทย
ต้องการให้เรียนรู้ได้เร็ว เน้นการศึกษาที่สามารถเรียนรู้และนำวิทยาการใหม่มาปรับใช้ได้เร็ว มีเปอร์เซ็นต์การสำเร็จการศึกษาสูงขึ้น
การให้บริการแบบ eService เป็นการบริการแบบ 24x7x365 การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้หลากหลายรูปแบบ
มีความคล่องตัว การเข้าถึงข่าวสารได้ทั่วถึงโดยใช้ระบบโทรคมนาคมสมัยใหม่ ระบบไร้สาย ระบบการเรียกเข้าสู่เครือข่ายจากบ้าน
การสร้างเครือข่ายยูนิเน็ตเพื่อเป้าหมายการศึกษาแบบทั่วถึง ทบวงมหาวิทยาลัยตอสนองต่อนโยบายของรัฐบาล ในการกระจายโอกาสทางการศึกษาไปยังจังหวัดต่าง ๆ ทบวงมหาวิทยาลัยได้ส่งเสริมนโยบายการกระจายวิทยาเขตของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ไปยังส่วนภูมิภาค ปัจจุบันมีจำนวนสถาบันอุดมศึกษาที่กระจายอยู่ทั่วประเทศทั้งสิ้น 195 แห่ง โดยอยู่ในกรุงเทพมหานคร 68 แห่ง ที่เหลือ 127 แห่ง กระจายอยู่ในส่วนภูมิภาค เฉพาะของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีวิทยาเขตกระจายออกไป เช่น วิทยาเขตกำแพงแสน วิทยาเขตศรีราชา วิทยาเขตสารสนเทศสกลนคร วิทยาเขตสารสนเทศกระบี่ วิทยาเขตสารสนเทศสุพรรณบุรี และวิทยาเขตสารสนเทศลพบุรี
นโยบายวิทยาเขตสารสนเทศของทบวงมหาวิทยาลัย เพื่อรองรับการเพิ่มขึ้นของนักเรียนในระดับมัธยมศึกษาที่เพิ่มขึ้น ตลอดจนเพิ่มศักยภาพในการพัฒนาการศึกษาในท้องถิ่น เพื่อตอบสนองการพัฒนาการศึกษาและสังคมของประเทศ
ในการแก้ปัญหาทางด้านการลงทุนโดยรวม และแก้ปัญหาการขาดแคลนทรัพยากรต่าง ๆ เช่น ทรัพยากรบุคคล ทบวงมหาวิทยาลัยจึงเสนอแนวทางในการแก้ปัญหา โดยใช้ระบบการศึกษาและจัดการศึกษาผ่านระบบสารสนเทศ โดยเน้นการดำเนินการและจัดการอย่างมีคุณภาพและมาตรฐานวิชาการ
ทบวงมหาวิทยาลัยจึงได้เสนอโครงการเครือข่ายสารสนเทศเพื่อพัฒนาการศึกษา ต่อคณะรัฐมนตรี และได้รับการอนุมัติเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2539 โดยมีมติให้ดำเนินการวิทยาเขตสารสนเทศใน 31 จังหวัด และสร้างสถาบันเทคโนโลยีชั้นสูง 3 จังหวัด และขยายพื้นที่การสอน 3 จังหวัด พร้อมกับอนุมัติงบประมาณปี 2540-2544 เพื่อสร้างองค์กรอิสระในการบริหารจัดการเครือข่ายสารสนเทศ เพื่อพัฒนาการศึกษา ซึ่งก็คือการพัฒนา UniNet
เป้าหมายของยูนิเน็ต
ทบวงมหาวิทยาลัยได้ดำเนินการ และกำหนดเป้าหมายสร้างเครือข่ายยูนิเน็ต โดยเริ่มสร้างเครือข่ายมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 โดยเน้นสร้างเครือข่ายความเร็วสูงเชื่อมโยงมหาวิทยาลัย สถาบัน และวิทยาเขตทุกแห่ง เครือข่ายยูนิเน็ตมีลักษณะพิเศษคือ ภายในกรุงเทพฯ เชื่อมด้วยเทคโนโลยี ATM ด้วยความเร็ว 155 Mbps และส่วนภูมิภาคเชื่อมด้วยสายวงจรเช่าความเร็วไม่น้อยกว่า 2 Mbps
ขณะเดียวกันก็สร้างเป้าหมายพัฒนาศูนย์การเรียนรู้ด้วยตนเอง และให้มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งนำเครือข่ายภายในของตนเชื่อมเข้าสู่ยูนิเน็ต เพื่อใช้ทรัพยากรร่วมกัน เช่น ระบบห้องสมุดดิจิตอล ระบบอินเทอร์เน็ต ระบบมัลติมีเดีย ระบบวิดีโอออนดีมานด์ ระบบศูนย์กลางศึกษาด้วยตนเอง
ยูนิเน็ต ยังเป็นเครือข่ายที่เชื่อมโยงด้วย VCS-Vidio Conference System เพื่อจัดให้มีห้องเรียนทางไกลในวิทยาเขตสารสนเทศ ทำให้การเรียนการสอนผ่านเครือข่ายไปยังวิทยาเขตห่างไกลได้ง่าย เพื่อให้มีข้อมูลสื่อสารตอบสนองผู้ใช้ได้มากขึ้น ทบวงมหาวิทยาลัยจึงมีโครงการพัฒนาเนื้อหาและวิชาที่ใช้ในการเรียนการสอนร่วมกัน เพื่อให้มีเนื้อหาที่เหมาะสมกับการใช้ในประเทศไทย
การเพิ่มเครือข่ายยูนิเน็ตเป็น เอดิเน็ต
เพื่อให้ฐานของเครือข่ายการศึกษา ยูนิเน็ต รองรับการใช้งานเพื่อการศึกษาอย่างทั่วถึง รัฐบาลจึงมีนโยบายที่จะขยายเครือข่ายยูนิเน็ต โดยความร่วมมือขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ที่จะขยายเครือข่ายเพื่อการศึกษาออกไป โดยสร้างโครงสร้างนโยบายการเชื่อมโยงเข้าสู่สถาบันการศึกษาอื่นทั่วประเทศ ดังนี้
รองรับการเชื่อมโยงเครือข่ายสคูลเน็ตเข้าสู่ยูนิเน็ต เพื่อให้ขยายขอบเขตการบริการทางด้านการศึกษาอย่างทั่วถึง
เชื่อมโยงกับเครือข่ายของกระทรวงศึกษา MOENET เพื่อทำให้การใช้งานทางด้านการจัดการการศึกษามีความเป็นเอกภาพมากยิ่งขึ้น
เชื่อมโยงรองรับสถาบันราชมงคลทุกสถาบัน เพื่อเข้าสู่เครือข่ายการศึกษาเดียวกัน
เชื่อมโยงรองรับเครือข่ายจากสถาบันราชภัฏจากทั่วประเทศ เพื่อการบริการการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารอย่างเป็นระบบ
ให้หน่วยงานการศึกษาต่าง ๆ เช่น โรงเรียน สถานศึกษาต่าง ๆ ทั้งสังกัดกรมสามัญศึกษา กรมอาชีวศึกษา สำนักงานการประถมศึกษาแห่งชาติ และสถาบันการศึกษาในสังกัดอื่น เชื่อมเข้าสู่เครือข่ายเอดิเน็ตได้ โดยเน้นการเชื่อมโยงระบบเครือข่ายท้องถิ่นที่ง่ายต่อการลงทุน
เครือข่ายเอดิเน็ตจึงเป็นเครือข่ายการศึกษาเพื่อมวลชนที่จะทำให้เข้าถึงการศึกษาได้อย่างดี
การก้าวสู่ความสำเร็จสำหรับอนาคต
เพื่อเป้าหมายสำคัญในการปฏิรูปและยกระดับการศึกษาของไทย จึงขึ้นอยู่กับบทบาทของเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ สื่อสารโทรคมนาคม และการจัดการข่าวสาร การวางแนวทางในอนาคตจึงเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะการวางโครงสร้างพื้นฐานทางด้านไอทีของประเทศไทย เพื่อใช้ประโยชน์การศึกษา การสร้างเนื้อหา การดำเนินการจัดการข้อมูลข่าวสาร และการแลกเปลี่ยนใช้งานข้อมูลร่วมกัน การพัฒนาบุคลากรทางการศึกษาให้มีความรู้ความสามารถในการใช้ประโยชน์จากเครือข่าย รวมถึงการสร้างกลไกเพื่อทำให้เกิด eService โดยเฉพาะการดำเนินงานภายในมีระบบ และรูปแบบของ eOffice มากขึ้น มีการใช้ระบบการเรียนการสอนทางไกล การเข้าถึงได้จากทุกหนแห่ง รวมถึงนโยบายหลักที่จะตอบสนองผู้เรียนได้ตลอดเวลา และนำพาสู่ระบบการศึกษาตลอดชีวิต

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น